ที่มา: Manager Online
ไทยรักไทยผิดฉกรรจ์ ตายยกเข่ง ถูกศาลรธน.สั่งยุบพรรคพร้อมเพิกถอนสิทธิ์การเมืองกรรมการบริหารทั้งกระบิ 111 คน จำนวน 5 ขณะเดียวกันสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย โดยเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง กก.บห.19และ 3 คนตามลำดับ
วันนี้(30 พ.ค.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 18.15 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ขึ้นนั่งบัลลังก์ เพื่อพิจารณาคำร้องยุบพรรคยุบพรรคไทยรักไทย(ผู้ถูกร้องที่ 1) พรรคพัฒนาชาติไทย(ผู้ถูกร้องที่ 2 ) และพรรคแผ่นดินไทย(ผู้ถูกร้องที่ 3 ) โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทยถูกอัยการสูงสุดร้องในข้อหาว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง
พร้อมระบุความผิดให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 66 ( 1) ที่ระบุว่า เป็นการกระทำการอันมีลักษณะ เป็นการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ (2) เป็นการกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ ขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66(1) และ(3) ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำร้องรายละเอียดของคดีที่ให้ยุบ 3 พรรคดังกล่าว พร้อมทั้งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องทั้ง 3 พรรค
ทั้งนี้ในส่วนของพรรคไทยรักไทย มีผู้บริหารพรรคที่นำโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคนำทีมมานั่งฟังคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับประเด็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในคดียุบพรรคหรือไม่ โดยมีข้อโต้แย้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลและสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และโต้แย้งในเรื่องอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองในเรื่องการร้องให้ยุบพรรค รวมทั้งเรื่องการไม่เปิดโอกาสให้ให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งพิจารณาแล้วฟังไม่ขึ้น
จากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อโต้แย้งในข้อเท็จจริง 8 กรณี ที่เกี่ยวกับการว่าจ้างผู้สมัครจากพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3 จากพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 สรุปได้ว่า ฟังไม่ขึ้นในทุกกรณี รวมทั้งศาลยังพิจารณาจากข้อเท็จจริงในประเด็นการมีผู้สมัครพรรคเดียวต้องได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 จึงมีการว่าจ้างผู้สมัครพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3 รวมทั้งมีการพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประชุมในสภาผู้แทนราษฎร
ในคำวินิจฉัยยังระบุข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณอยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไฟศาล เป็นว่าจ้างผู้สมัครจากพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมา เห็นว่าการแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาสังกัดพรรค และการว่าจ้างผู้สมัคร การหลีกเลี่ยงการได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 กรณีมีผู้สมัครคนเดียวในเขตนั้น ทำทุกอย่างเพื่อกลับคืนสู่อำนาจ วินิจฉัยได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีการกระทำลวงตาว่าเป็นการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันเห็นว่าพฤติกรรมของผู้ถูกร้องที่ 1 ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศิลธรรมอันดีของประชาชน เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่มีอุดมการณ์ กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
ส่วนผู้ถูกร้องที่ 2-3 กระทำในฐานะรับจ้างสมัครรับเลือกตั้ง แก้ไขฐานข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
จากพฤติกรรมดังกล่าวมาพิจารณาแล้วเห็นว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่อาจจรรโลงพรรคการเมืองจึงเห็นควรให้ยุบพรรค ส่วนข้ออ้างที่ว่ามีสมาชิกพรรคกว่า 14 ล้านเสียงหากยุบพรรคจะมีผลกระทบนั้น เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรคที่ต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกพรรคเอาเอง ส่วนพรรคที่ 2-3 ก็มีความผิดในลักษณะเดียวกันจึงเห็นควรให้ยุบพรรค เช่นเดียวกัน
ส่วนประเด็นการตัดสิทธิ์การเลือกตั้งนั้น ศาลฯพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่ากรรมการบริหารพรรคลาออกไปแล้วก็ไม่มีผลหลีกเลี่ยงความผิด หรือเลี่ยงการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และเนื่องจากพฤติกรรมความผิดร้ายแรงจึงเพิกถอนสิทธิ์การเมืองของพรรคผู้ถุกร้องที่ 1 (ทรท.)กรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน ส่วนพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 19 คน ส่วนผู้ถูกร้องที่ 3 ตัดสิทธิ์การเมือง 3 คน