ที่มา: Manager Online
แผ่นดินไหวพรมแดนลาว-พม่า ขนาด 6.1 ริกเตอร์ เวลา 15.57 น. ห่างจากเชียงราย 57 กิโลเมตร ความลึกจากระดับผิวดิน 10 กิโลเมตร สะเทือนถึง กทม. หลายตึกใหญ่รับแรงสั่นสะเทือน สั่งเคลื่อนย้ายผู้คนออกจากตัวอาคาร
เมื่อเวลาประมาณ 15.57 น. ของวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 กรมอุตุนิยมวิทยาตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.1 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณพรมแดนลาว-พม่า ห่างจาก จ.เชียงราย ประมาณ 95 กิโลเมตร หรือละติจูดที่ 21.1 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 100.32 องศาตะวันออก มีรายงานความรู้สึกสั่นไหวที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ และบนอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นไม่มีรายงานความเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตึก SM ทาวเวอร์ ถ.พหลโยธิน เวลาประมาณ 16.00 น. ได้เกิดแผ่นดินไหว ทำให้ผู้ที่อยู่บนอาคารรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารได้แจ้งให้ทุกสำนักงานภายในตึก ขนย้ายคนออกจากตัวอาคาร ทำให้อาคารสำนักงานต่างๆ ภายในตึกต้องเลิกทำการอย่างกะทันหัน เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนได้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวโครงสร้างอาคารระดับสูง
อย่างไรก็ตาม การออกจากตัวอาคารของประชาชนเป็นไปอย่างเรียบร้อยท่ามกลางการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยไม่ค่อยประสบกับปัญหาดังกล่าวบ่อยครั้งนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ด้านอาคารวิทยาลัยการจัดการมหิดล (CMMU) ริมถนนวิภาวดีรังสิต เยื้องแฟลตดินแดง เวลาประมาณ 16.00 น ก็รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนเช่นกัน โดยทุกคนที่ทำงานในตัวอาคารได้เกิดอาการเหมือนกันคือเวียนศรีษะ เนื่องจากรู้สึกว่าอาคารสั่นอย่างแรง ผ้าม่านปลิว และมีตัวอาคารเริ่มสั่นแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยอาคารดังกล่าวมีความสูง 25 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในย่านนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ทุกคนต่างทยอยกันออกจากตัวอาคารทันที
ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ จ.เชียงราย รายงานว่า แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นเวลา 35 วินาที ทำให้อาคารสำนักงานและตึกสูงได้รับความสั่นสะเทือนเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่และผู้ที่อยู่ภายในอาคารต่างๆ วิ่งหนีออกมาภายนอก ขณะเดียวกันได้มีฝนตกลงมาปรอยๆ ฟ้าร้องเป็นระยะๆ และอีกประมาณ 5 นาทีต่อมาก็เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นอีกเล็กน้อย จากนั้นได้สอบถามไปยัง อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งอยู่บนดอยสูง ทราบว่าครั้งนี้เกิดแรงสั่นสะเทือนมากกว่าทุกครั้งที่เคยเกิดแผ่นดินไหว
ด้านนายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทางกทม.จะต้องตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการจากกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าแรงสั่นสะเทือนที่ถึง กทม. มากน้อยแค่ไหน ส่วนความรู้สึกที่ประชาชนใน กทม.ได้รับจากอาคารสูง มีรายงานเข้ามาถึงทุกย่าน อาทิ สีลม คลองเตย เพชรบุรี เพลินจิตร ซึ่งขอย้ำให้ประชาชนมั่นใจและอย่าตื่นตระหนัก สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของ กทม. กระจายอยู่ทั่ว กทม.ทั้ง 50 เขต ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือ หากเกิดกรณีอัคคีภัย หรือสิ่งของเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหว หรือช่วยชีวิต
ทั้งนี้ มีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่อยู่บนตึกสูง หากเกิดแผ่นดินไหว ให้หลีกให้ไกลจากวัสดุของมีคม หากมีท่อแก๊สหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไอระเหยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดการติดไฟได้ ให้ปิดวาล์วทันที หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้สายไฟฟ้าที่อาจจะพาดผ่านถึง และรีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด อีกทั้งไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณที่มีกระจก ซึ่งอาจจะแตกร้าวใส่ตัวได้
ส่วนตึกไหนบ้างที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ นายวัลลภ กล่าวว่า ไม่มีตึกไหนเป็นพิเศษ แต่ตึกสูงและบ้านเรือนประชาชนก็ต้องเฝ้าระวังเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในย่านสีลม ซึ่งเป็นย่านธุรกิจมีอาคารสูงจำนวนมาก พนักงานรู้สึกถึงแรงสั่นไหวในครั้งนี้ และหลายรายมีอาการเวียนหัว ขณะที่ทางบริษัทได้รีบแจ้งให้พนักงานทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอนุญาตให้กลับบ้านทันที